ความเป็นมาของสมาคมอสังหาริมทรัพย์
จังหวัดภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของภาคใต้ เป็นเกาะที่ได้รับสมญานามว่า “ไข่มุกอันดามัน” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางระดับโลก มีชาวต่างชาติพากันมาท่องเที่ยวทุกชาติ ทุกภาษา จนกระทั่งชื่นชอบหลงไหล มีการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดภูเก็ต จากการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวทำให้มีคนไทย และแรงงานต่างชาติหลั่งไหลกันมามากมาย ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วยการก่อสร้างกิจการโรงแรม, อพาท์เม้นท์, บ้านเช่า, การซื้อที่ดิน และที่สำคัญคือ ธุรกิจที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านเดี่ยว, บ้านแฝด, บ้านแถว, คอนโดมิเนียม, วิลล่าหรู ทำให้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นกลุ่มที่ทำรายได้มากเป็นอันดับสองรองจากกลุ่มท่องเที่ยว
จากความสำคัญดังกล่าวนี้ทำให้คุณภูมิศักดิ์ หงษ์หยก อดีตนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และอดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้รวบรวมนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และผู้ที่สนใจในแวดวงดังกล่าวก่อตั้งชมรมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ตขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2546 โดยคุณภูมิศักดิ์ หงษ์หยก ให้เกียรติเป็นประธานชมรมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต ถือว่าท่านเป็นผู้มีคุณูประการกับวงการอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ตอย่างยิ่ง และในระหว่างนั้นท่านยังเป็นผู้ที่ทำให้ชมรมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ตได้รับการแต่งตั้ง เป็นคณะกรรมการในสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสมาคมหลักที่ได้รับการยอมรับจากภาคราชการ ทำให้จุดเริ่มต้นของการประสานงานระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต และส่วนกลางได้เริ่มต้นอย่างเป็นกระบวนการที่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับบทบาทของกลุ่มธุรกิจนี้ ที่เป็นกำลังสำคัญของภูเก็ต
ประธานชมรมอสังหาริมทรัพย์ท่านที่ 2 คือ คุณธนันท์ ตัณฑ์ไพบูลย์ ท่านได้เริ่มขยายฐานสมาชิก และจัดงานแสดงบ้านและคอนโดในนาม Phuket Real Estate Show เพื่อเป็นเวทีให้สมาชิกของเราได้เปิดตัวโครงการ และแสดงนวัตกรรมของบ้าน และคอนโดอย่างมีรูปแบบ และเป็นมาตรฐาน งานแสดงที่สมบูรณ์แบบครั้งแรกในจังหวัดภูเก็ต รวมถึงการจัดสัมมนาเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับสมาชิก และท่านยังได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมาโดยตลอด ท่านได้จดทะเบียนชมรมอสังหาริมทรัพย์เป็นสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 30 กันยายน 2552 นับว่าเป็นผู้ที่ทุ่มเท สร้างสรรค์ และวางแนวทางเป็นรากฐานให้กับสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ตให้เป็นมาตรฐานสู่สากล เทียมหน้าเทียมตากับต่างประเทศ
รุ่นที่ 3 คือ คุณธนูศักดิ์ พึ่งเดช ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งชมรมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต และรับตำแหน่งอุปนายกต่อเนื่องมาในยุคสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ตได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาสมัยท่านผู้ว่าไมตรี อินทุสุต สมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ได้รับการแต่งตั้งและให้เข้าร่วมทำงานกับภาคราชการผ่านทาง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต (กรอ.จังหวัดภูเก็ต) และคณะกรรมการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตได้ทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ ในการสนับสนุนข้อมูล และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างภาคราชการ กับภาคเอกชนในส่วนงานอสังหาริมทรัพย์
จนในปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งให้เข้ารับงานในส่วนราชการอีกมากมาย อาทิเช่น
- คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต (กรอ.จังหวัดภูเก็ต)
- คณะกรรมการสนับสนุนข้อมูล และส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดภูเก็ต
- คณะทำงานสนับสนุนการทำงานของกรรมการกลั่นกรองการจดทะเบียนธุรกิจเพื่อป้องกันการประกอบธุรกิจ อันมีลักษณะใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee)
- คณะทำงานโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านอนุรักษ์พลังงานจังหวัดภูเก็ต
- คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดภูเก็ต
ปัจจุบันทางคุณธนูศักดิ์ พึ่งเดช ยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต และกรรมการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ผลงานของสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่เป็นชมรมฯ จนถึงเป็นสมาคมฯ เป็นความตั้งใจเพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองภูเก็ตโดยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินการทางธุรกิจให้ถูกต้องและสอดคล้องกับภาคราชการ ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
วัตถุประสงค์ของสมาคม
1. ส่งเสริม และสนับสนุนการประกอบธุรกิจการค้า และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในทางปฏิบัติ และทางวิชาการ
2. สนับสนุน และช่วยเหลือสมาชิก แก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่าง ๆ ในการประกอบการค้าของสมาชิก รวมทั้งประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือสมาชิกกับ บุคคลภายนอก เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการ
3. เป็นสื่อประสานงานการประกอบการค้า และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กับหน่วยราชการ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การประกอบธุรกิจดาเนินไป โดยเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4. เป็นสื่อกลางระหว่างสมาชิกกับชมรม และผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยน ความช่วยเหลือในทางวิชาการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยน ความรู้ ความชำนาญ ในการประกอบธุรกิจซึ่งกันและกัน
5. เป็นสื่อกลางระหว่างสมาชิก เพื่อความสัมพันธ์อันดี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความชำนาญ ในการประกอบธุรกิจ และเพื่อให้ความช่วยเหลือในทางวิชาการทางปฏิบัติ และทางการเงินซึ่งกันและกัน
6. ส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับทำเลที่ดิน การวางแปลนแผนผังวิธีการก่อสร้าง และการใช้วัสดุก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการประกอบการ
7. ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของสมาชิกให้เข้ามาตรฐาน และปรับปรุงวิธีดำเนินการของสมาชิกให้ได้ผลยิ่งขึ้น
8. สอดส่อง และติดตามความเคลื่อนไหว ของภาวะการประกอบธุรกิจการค้า และการพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งภาวะตลาดวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง
9. ส่งเสริมและเผยแพร่เกียรติคุณ ของสมาชิกผู้ดำเนินการ ได้ผลดี เป็นที่เชื่อถือแก่ประชาชนและทางราชการ
10. ช่วยเหลือ และส่งเสริมการกุศล และสาธารณะสงเคราะห์
11. ปฏิบัติกิจการอื่นเพื่อประโยชน์ของสมาชิก หรือส่วนรวม ตามขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจ กระทำได้
12. ไม่ดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเมือง